top of page
Search
Writer's pictureSudsukh Thavornthanasarn

วันเข้าพรรษา และพิธีกรรมทางศาสนา

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง การเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2564 ระบุว่า ประเทศไทยคาดว่าจะสิ้นสุดฤดูร้อน และเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝน ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้


เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ก็จะเป็นช่วงที่เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูก เริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน ไปจนถึงการเพาะต้นกล้า เพื่อนำไปปลูกต่อไป


ในอดีตสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้กำหนดการจำพรรษาในวันเข้าพรรษาไว้ พระสงฆ์ผู้ที่เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ได้เหยียบย่ำพืชผลชาวบ้านที่ปลูกไว้ในฤดูฝน สัตว์น้อยใหญ่ที่ออกหากินบนผิวดินถูกเหยียบย่ำ ชาวบ้านได้รับความเสียหาย เมื่อเรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้าจึงเกิดการบัญญัติเรื่องวันเข้าพรรษาไว้ให้ภิกษุจำพรรษาอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลา 3 เดือน


ตามประวัติบันทึกไว้ ประเพณีวันเข้าพรรษาในประเทศไทย มีระบุไว้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย เกี่ยวกับการทำบุญวันเข้าพรรษาของพระมหากษัตริย์ และประชาชน เกี่ยวกับการถวายผ้าอาบน้ำฝนและถวายเทียนพรรษา

การเข้าพรรษาตามพระวินัย มี 2 แบบ ได้แก่

1. เข้าพรรษาตามปกติ เรียกว่า “ปุริมพรรษา” - เริ่ม แรม 1 ค่ำ เดือน 8 หากมีเดือน 8 สองหนก็จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็จะมีสิทธิ์รับกฐิน

2. เข้าพรรษาหลัง เรียกว่า ปัจฉิมพรรษา - เริ่ม แรม 1 ค่ำ เดือน 9 และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ในกรณีที่พระภิกษุติดกิจต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัยให้ไม่สามารถเข้าพรรษาในรอบแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ได้


กรณีพระภิกษุต้องออกไปจำพรรษาที่อื่น สามารถขออนุญาตทำได้ เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” และต้องกลับมาภายใน 7 วัน เพื่อไม่ให้พรรษาขาด ไม่ถือว่าอาบัติ ได้แก่ พระภิกษุต้องดูแลบิดามารดาที่เจ็บป่วย, ทำสังฆกรรม อาทิ จัดหาอุปกรณ์ซ่อมกุฏิที่ชำรุด, ทายกนิมนต์ให้ไปทำบุญค้างคืน


วันเข้าพรรษามักจะตรงกับฤดูการเกษตร ชาวบ้านจะปลูกพืชผล และภิกษุสงฆ์จะจำวัดเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนพุทธศาสนิกชนก็ร่วมบำเพ็ญกุศล ตักบาตร ถวายเทียนพรรษา รักษาศีล โดยความสำคัญของวันเข้าพรรษามี 5 ข้อ ดังนี้

1. พืชผลที่ชาวบ้านปลูกเป็นต้นกล้า จะได้เติบโตแข็งแรงไม่ถูกทำลายจากกรณีกิจของพระสงฆ์ที่ต้องเดินทางรับกิจนิมนต์

2. ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อนจากการเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนา

3.พระภิกษุสงฆ์จะได้ฝึกปฏิบัติธรรมสำหรับตนเองเพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรม

4. บวชเรียนบุตรหลานที่ถึงวัยบวช หรือบรรพชา เพื่อเป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

5. เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้บำเพ็ญกุศล ถือศีล เจริญภาวนา ฟังเทศน์ ถวายเทียนพรรษา และถวายผ้าอาบน้ำฝน


พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาจนครบ จะได้สิทธิ์ยกเว้นพระวินัย 5 ข้อ ดังนี้

1. เที่ยวเดินทางออกจากวัดโดยไม่ต้องแจ้งเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์รูปอื่นได้

2. เที่ยวเดินทางได้โดยไม่ต้องถือจีวรครบ 3 ผืน

3. ฉันล้อมวงแบบคณะโภชน์ได้

4. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา

5. เก็บจีวรเมื่อมีผู้มาถวายได้ หากเกินกว่าไตรครอง โดยไม่ต้องสละเข้ากองกลาง


เมื่อใกล้ถึงวันเข้าพรรษา พระภิกษุสงฆ์ในอาวาสต่างๆ จะเตรียมตัวซ่อมแซมบูรณะวัดให้พร้อมแก่การจำพรรษา เจ้าอาวาสจะเป็นผู้ประกาศ “วัสสูปนายิกา” เกี่ยวกับการเข้าพรรษาไว้อย่างชัดเจน และหลังจากจบประกาศแล้วก็จะมีการขอขมาลาโทษกันเพื่อให้พระสงฆ์ในวัดมีความสามัคคีกัน การเริ่มต้นจำวัดเข้าพรรษา พระสงฆ์สามเณร จะกล่าวคำอธิษฐานพร้อมกันว่า “อิมสฺมิ˚ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปม “


พุทธศาสนิกชนนิยมเดินทางไปวัดเพื่อช่วยทำความสะอาด บูรณะสถานที่ต่างๆ ในวัดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พระภิกษุสงฆ์ที่จะอยู่จำพรรษา รวมถึงเตรียมตัวเพื่อถวายทานอื่น ๆ อาทิ

1. บวชบุตรหลานที่อายุถึงวัยบรรพชา

2. ถวายผ้าอาบน้ำฝน

3. ถวายเทียนพรรษา

4. ตักบาตร

#การถวายเทียนพรรษา

การถวายเทียนพรรษาในประเทศไทย มักนิยมทำมาแต่โบราณ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์และสามเณร ได้มีแสงสว่างใช้อ่านคัมภีร์ ศึกษาพระธรรม จะกระทำขึ้นก่อนเทศกาลเข้าพรรษาแด่พระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาทุกปี คือก่อนวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หรือเดือน ๘ ที่สอง ในกรณีที่มีอธิกมาส พุทธศาสนิกชนก็จะพากันขวนขวายให้มีการถวายเทียนจำนำพรรษาแก่วัดในท้องถิ่นของตน เพื่อให้พระสงฆ์จุดบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา ๓ เดือน ซึ่งทางเราได้ผลิตเทียนพรรษา ขนาดต่าง ๆ หลาย ๆ สี ให้แก่เพื่อน ๆ ที่เป็นพุทธศาสนิกชนได้เลือกซื้อตามความเหมาะสมและความต้องการของแต่ละคน


นอกจากกิจกรรมภายในวัดแล้ว ทางรัฐบาลได้ประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และมีแคมเปญรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาจาก สสส. เป็นกิจกรรมที่นิยมงดดื่มสุราเป็นระยะเวลา 3 เดือน ที่ร่วมทำกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เพื่อให้ประชาชนหันมาดูแลตับ ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย ซึ่งการงดเหล้าเป็นส่วนหนึ่งของการถือศีล 5 ด้วย กิจกรรมงดเหล้าจึงสอดคล้องกับหลักธรรม พุทธศาสนิกชนจึงนิยมปฏิบัติงดเหล้าอย่างเคร่งครัด


200 views0 comments

Comments


bottom of page